Home » การใช้เข็มขัดพยุงหลังในการยกเคลื่อนย้ายของหนัก

การใช้เข็มขัดพยุงหลังในการยกเคลื่อนย้ายของหนัก

by April Craig
381 views
เข็มขัดพนุงหลังสำคัญอย่างไร

เข็มขัดพยุงหลัง ช่วยป้องกันการปวดหลังสำหรับยกของหนักได้อย่างไร

ในปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการยกเคลื่อนย้ายของหนัก คือ กฎกระทรวง กำหนดอัตราน้ำหนักที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานได้ พ.ศ. ๒๕๔๗ ที่อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ได้กำหนดให้ลูกจ้างทำงานยก แบก หาม หาบ ทูน ลาก หรือเข็นของหนัก ไม่เกินอัตราน้ำหนักต่อลูกจ้างหนึ่งคน ดังต่อไปนี้

  1. เด็กหญิง (ตั้งแต่ ๑๕ ปี แต่ยังไม่ถึง ๑๘ ปี) ไม่เกิน ๒๐ กิโลกรัม
  2. เด็กชาย (ตั้งแต่ ๑๕ ปี แต่ยังไม่ถึง ๑๘ ปี) ไม่เกิน ๒๕ กิโลกรัม
  3. ลูกจ้างหญิง ไม่เกิน ๒๕ กิโลกรัม
  4. ลูกจ้างชาย ไม่เกิน ๕๕ กิโลกรัม

สาเหตุของอาการปวดหลังจากการทำงาน

อาการปวดหลังจากการทำงาน เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในกลุ่มพนักงานที่ทำงานในสถานประกอบกิจการ ซึ่งมักมีอาการปวดที่บริเวณเอวและหลัง เมื่อพักผ่อนก็จะมีอาการดีขึ้น แต่เมื่อเริ่มเคลื่อนไหวทำงาน ก็จะเริ่มมีอาการปวดหลังขึ้นอีก อาการปวดหลังเรื้อรังนี้จะส่งผลไปถึงการหยุดงาน การสูญเสียรายได้ การเสียค่ารักษาพยาบาล

สาเหตุ อาการปวดหลังของพนักกลุ่มนี้ มักเกิดจากต้องคร่ำเคร่งกับการทำงาน ก้มตัวยกของหนัก ทำงานอยู่ในท่าเดียวกันเป็นเวลานานๆ ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติของกระดูกและกล้ามเนื้อ โดยมีรายงานประเทศอุตสาหกรรม มีอุบัติการณ์ของอาการปวดหลังสูง เช่น สหรัฐอเมริกามีผู้ป่วยปวดหลัง ร้อยละ ๕ ของประชากรวัยทำงานทั้งหมด

สำหรับประเทศไทยในแต่ละปีมีพนักงานในสถานประกอบกิจการ ประสบปัญหาบาดเจ็บจากการทำงาน ที่มีสาเหตุจากท่าทางการทำงาน และการยกเคลื่อนย้ายของหนัก ด้วยการใช้แรงคน จนต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล ทำกายภาพบำบัด มีจำนวนสูงขึ้นทุกปี เช่น

  • พ.ศ. 2549 มีจำนวน 1,251 ราย
  • พ.ศ. 2550 มีจำนวน 2,395 ราย
  • พ.ศ. 2551 มีจำนวน 5,925 ราย ตามลำดับ

(ที่มา สำนักงานกองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคม)

ใช้เข็มขัดพยุงหลังผิดๆ อาจจะทำให้ปวดหลังตลอดชีวิต

เข็มขัดพยุงหลัง หรือ back support เป็นอุปกรณ์ที่พบเห็นได้ทั่วไปตามท้องตลาด และเป็นอุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้ สำหรับคนที่ต้องทำงานยกของ แบกของ พนักงานขับรถ หรือแม้กระทั่งในผู้ป่วยที่ผ่าหลัง ทุกคนล้วนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า “ขาดเจ้านี่ไม่ได้เลย ใส่แล้วสบายหลังดี ถ้าไม่ได้ใส่จะรู้สึกปวดหลัง ไม่สบายหลังทำงานลำบาก”

ถ้าท่านมีความรู้สึกดังกล่าว แสดงว่าคุณอาจมีภาวะกล้ามเนื้อหลังฝ่อ หรือภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงเรียบร้อยแล้ว ซึ่งภาวะดังกล่าวนั้นอาจจะไม่ได้อันตรายมาก นอกจากแค่รู้สึกปวดหลังเมื่อไม่ได้ใส่ back support แต่เมื่อวันเวลาผ่านไปนานหลายปีเข้า ความเสี่ยงที่จะเกิดโรคกระดูกสันหลังเสื่อม หรือหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทจะตามมาในอนาคตได้  สิ่งที่ช่วยให้สบายในวันนี้อาจนำไปสู่หายนะได้ในอนาคตก็ว่าได้

 

การยกของด้วยท่าทางที่ไม่ถูกต้อง

 

ข้อแนะนำในการใช้เข็มขัดพยุงหลัง

เข็มขัดพยุงหลัง (Back support) นับวันพนักงานในสถานประกอบกิจการ ยิ่งมีความนิยมนำมาสวมใส่เสมือนเป็นอุปกรณ์ คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล เช่นเดียวกับหมวกหรือรองเท้านิรภัยที่ใช้ในขณะทำงาน มากขึ้นทุกที

เข็มขัด พยุงหลังมีประโยชน์ในพนักงานที่ได้รับบาดเจ็บ และกำลังฟื้นฟูสมรรถภาพเพื่อกลับเข้าทำงานเดิม การใส่จะมีประโยชน์มากในช่วงแรก เพื่อลดอาการเจ็บ แต่ควรจะใช้ในช่วงเวลาสั้นๆ

การที่คิดว่าการใส่เข็มขัดพยุงหลังแล้วจะป้องกันอาการปวดหลังได้นั้นเป็นความคิดที่ผิด

เพราะการป้องกันอาการปวดหลังจากการทำงาน ต้องอาศัยการจัดสภาพการทำงานให้เหมาะสม น้ำหนักวัตถุที่จะยกไม่หนักเกินกำลัง เมื่อใดที่ยกของหนักเกินกำลังของตนเอง และต้องบิดตัวขณะยก ไม่ว่าจะใส่หรือไม่ใส่เข็มขัดพยุงหลังก็จะมีโอกาสปวดหลังได้เช่นเดียวกัน

ดังนั้น พนักงานที่ไม่มีอาการบาดเจ็บหรือปวดหลังไม่จำเป็นต้องใส่เข็มขัดพยุงหลัง นอกจากสิ้นเปลืองแล้ว ยังมีผลต่อสุขภาพร่างกายดังนี้

(1) กล้ามเนื้อบริเวณลำตัวทำงานลดลง

เข็มขัด พยุงหลังในทางการแพทย์จะใช้พยุงหลังบรรเทาอาการปวด ในกรณีที่กระดูกสันหลังเคลื่อนหรือหลังผ่าตัดหลัง เพื่อช่วยทำงานแทนกล้ามเนื้อหลังที่อ่อนแอไปหลังจากการผ่าตัด และทำให้การซ่อมแซมส่วนที่บาดเจ็บเร็วขึ้น เพราะกล้ามเนื้อทำงานน้อยลง แต่การใส่ระยะยาวจะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณลำตัวทำงานลดลง

มีการศึกษาในหลายประเทศ พบว่า อัตราการบาดเจ็บหรือปวดหลังระหว่างพนักงานที่ใส่เข็มขัดพยุงหลังกับพนักงานที่ไม่ใส่ มีอัตราที่ไม่แตกต่างกัน แต่ พนักงานที่ใส่เข็มขัดพยุงหลังมีการบาดเจ็บที่รุนแรงมากกว่า เนื่องจากพนักงานที่ใส่เข็มขัดพยุงหลังจะรู้สึกมั่นใจมากเมื่อยกของหนัก คิดว่าตนเองมีความปลอดภัยแล้ว ความมั่นใจนี้จะมีผลเสียทำให้ยกของหนักโดยไม่ระมัดระวังเท่ากับในขณะที่ไม่ ได้ใส่เข็มขัดพยุงหลัง

(2) เกิดไส้เลื่อน ริดสีดวงทวาร เส้นเลือดขอด และความดันเลือดเพิ่มขึ้น

ได้ มีการศึกษาโดยการตรวจวัดความดันเลือดของพนักงานที่ใส่เข็มขัดพยุงหลังในขณะ ยกของหนัก นั่ง และทำงานเบา พบว่า การใส่เข็มขัดพยุงหลังทำให้ความดันเลือดเพิ่มขึ้น ซึ่งอธิบายได้ว่า การใส่เข็มขัดพยุงหลังจะมีความดันในช่องท้องเพิ่มขึ้น ปริมาณเลือดที่ไหลกลับเข้าหัวใจเร็วขึ้น ทำให้ความดันเลือดเพิ่มขึ้น ผู้ที่มีความดันเลือดสูงอยู่แล้วก็จะสูงยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ผลระยะยาวจากการใส่เข็มขัดพยุงหลังที่ทำให้ความดันในช่องท้องสูงนานๆ อาจทำให้เกิดไส้เลื่อน ริดสีดวงทวาร เส้นเลือดขอดที่ขาและถุงอัณฑะได้

 

ท่าสำหรับการยกของที่ถูกต้อง

เข็มขัดพยุงหลังทำให้ปวดหลังได้ยังไง ?

ถ้าให้เปรียบเทียบง่ายๆ กล้ามเนื้อคนเราก็เปรียบเสมือนโอ่งใบหนึ่งที่สามารถปรับเปลี่ยนขนาดได้ตามการใช้งาน ถ้ามีคนมาใช้บริการตักนํ้าในโอ่งเยอะๆ เจ้าโอ่งใบนั้นจะรู้ตัวว่าตัวเองเป็นที่ต้องการมากจึงขยายตัวเองให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อรองรับปริมาณนํ้าให้มากขึ้น คนที่มาตักนํ้าจะได้ตักนํ้าได้อย่างต่อเนื่อง แต่ในขณะเดียวกันถ้ามีคนมาใช้บริการตักนํ้าในโอ่งใบนั้นน้อยมากๆหรือแทบไม่มีใครมาตักนํ้าในโอ่งกันเลย เจ้าโอ่งใบนั้นก็จะปรับตัวให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ นั่นคือการลดขนาดตัวมันเองให้เล็กลง ก็ในเมื่อไม่มีคนมาตักนํ้ากับฉันเยอะๆแล้วจะให้ฉันขยายตัวเองให้ใหญ่ทำไม

ร่างกายคนเราก็เช่นเดียวกัน ถ้ากล้ามเนื้อมัดไหนไม่ได้ถูกใช้ ร่างกายคนเราจึงให้สารอาหารกับกล้ามเนื้อมัดนั้นน้อยลง พูดง่ายๆคือ จะให้สารอาหารเยอะๆไปทำไมในเมื่อมันใช้พลังงานไม่คุ้มกับสิ่งที่ได้ เหมือนกับพนักงานที่ได้เงินเดือน 3 หมื่นแต่มันดันทำงานแค่ 1 หมื่น ขาดทุนไป 2 หมื่น เจ้านาย(ร่างกาย)จึงปรับลดเงินเดือนให้เหลือหมื่นเดียวตามการใช้งานจริง

กล้ามเนื้อหลังที่เราใส่เข็มขัดพยุงหลังก็เหมือนกันครับ เจ้าเข็มขัดพยุงหลังเนี่ยมันช่วยพยุงหลังของเรา นั่นเท่ากับว่ากล้ามเนื้อบริเวณหลังนั้นใช้แรงน้อยลง เนื่องจากมีเข็มขัดช่วยพยุงอยู่ และเมื่อเราติดนิสัยชอบใส่ back support อยู่ตลอดเวลา ยังจำคอนเซ็ปเดิมได้มั้ยครับ “ถ้าไม่ใช้ ถือว่าเป็นส่วนเกินต้องกำจัดทิ้ง” ทีนี้ละครับหายนะจะบังเกิด

ร่างกายเราจึงปรับตัวโดยการให้กล้ามเนื้อหลังนั้นมีขนาดเล็กลง มีมวลกล้ามเนื้อน้อยลง (ลดขนาดโอ่ง) เพื่อให้สารอาหารไปเลี้ยงบริเวณนั้นน้อยลง (จะให้สารอาหารแกทำไมในเมื่อแกใช้ไม่คุ้มกับสิ่งที่แกทำงาน) เมื่อเกิดวงจรนี้นานๆเข้าจะพบว่าความแข็งแรงและกำลังกล้ามเนื้อของเราลดลงไปอย่างมาก ขณะเดียวกันก็ยังคงต้องรับนํ้าหนักจากร่างกายอยู่ตลอดเวลา ในเมื่อใช้งานกล้ามเนื้อหลังมาก แต่แรงไม่มี มันเลยประท้วงเป็นอาการปวดขึ้น

นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของอาการปวดหลังนั่นเองครับ และหากยังไม่ได้รับการแก้ไขที่ถูกต้อง(เพิ่มความแข็งแรงกล้ามเนื้อ) ก็จะทำให้เกิดอาการปวดหลังเรื้อรังและมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคกระดูกสันหลังเสื่อมและโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทตามมาอีก เกิดเป็นวงจรอุบาตรขึ้น

การป้องกันอาการปวดหลัง

อาการ ปวดหลังนี้ แพทย์และนักกายภาพบำบัดเป็นเพียงผู้ช่วยให้อาการปวดทุเลา ซึ่งอาจกลับเป็นได้อีก แต่การปวดหลังนี้สามารถที่จะป้องกันได้ โดยการปฏิบัติดังนี้

  • การยกของหนัก ท่าทางในการยกต้องทำให้ถูกวิธีโดยยืนให้ชิดสิ่งของที่จะยก ย่อเข่าให้หลังเป็นแนวตรง แขนแนบชิดลำตัว และอย่ายกสิ่งของที่มีน้ำหนักมากเกินไป
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในท่าเดียวนานๆ โดยเฉพาะท่านั่ง
  • การยืนทำงานนานๆ ควรมีที่พักเท้า
  • อย่าให้น้ำหนักตัวมากเกินไป ซึ่งมีเกณฑ์มาตรฐานดังนี้ เพศชาย : ส่วนสูง (เซนติเมตร) – 105 = น้ำหนัก ± 10 กิโลกรัม เพศหญิง: ส่วนสูง (เซนติเมตร) – 110 = น้ำหนัก ± 10 กิโลกรัม เช่น เพศชาย สูง 170 เซนติเมตร น้ำหนักควรอยู่ระหว่าง 65 ± 10 กิโลกรัม (55 – 75 กิโลกรัม) เป็นต้น
  • ออกกำลังกายให้กล้ามเนื้อบริเวณหน้าท้องและหลังแข็งแรง เช่น การใช้วิธีนอนคว่ำ นำหมอนหนุนใต้ท้อง ค่อยๆยกศีรษะขึ้น ค้างไว้ 3 – 5 วินาที แล้วค่อยๆลดศีรษะลง โดยทำซ้ำ 5 – 10 ครั้ง เป็นต้น
  • เมื่อมีอาการปวดหลัง อาจใช้กระเป๋าน้ำร้อนวางบริเวณที่ปวดนาน 20 – 30 นาที แต่ถ้ามีอาการปวดร้าวลงขา อาจเกิดจากหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ทันที

 

การใส่เข็มขัดพยุงหลังที่ถูกต้อง

 

วิธีการใช้ back support ที่ถูกต้อง

ถึงแม้ว่าการใส่ back support จะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการปวดหลังจนบางท่านอาจจะกลัว เลิกใช้แล้วเอาไปโยนทิ้งกัน จริงๆแล้วเราสามารถใช้ได้ตามปกติ แต่ให้ดูตามความเหมาะสมมากกว่าคือ ใช้เมื่อจำเป็นต้องยกของหนัก ใช้เมื่อต้องทำกิจกรรมที่ก้มๆเงยๆ ใช้เมื่อต้องนั่งรถเดินทางไกลแล้วปวดหลัง ซึ่งเมื่อทำกิจกรรมดังกล่าวเสร็จแล้วให้ถอดทันที หรือในกรณีมีความจำเป็นต้องใส่ติดต่อกันเป็นเวลานานจริงๆก็ไม่ควรใส่นานเกิน 2 ชั่วโมงนะครับ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็มีข้อยกเว้นด้วยนะ เช่น ในกรณีผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดหลังมาจำเป็นต้องใส่ back support เพื่อช่วยพยุงหลัง และลดปวดจนกว่าจะฝึกกำลังกล้ามเนื้อหลังให้แข็งแรงจึงจะถอดออกได้

อ่านมาถึงตรงนี้หลายท่านคงจะแอบเถียงอยู่ในใจว่า “จะให้ทำยังไงละ ถ้าไม่ใส่ก็ปวดอยู่ดี ปวดจนทำงานไม่ได้เลย” ทุกปัญหามีทางออกเสมอครับ โดยมี 2 แนวทางดังนี้ คือ

  1. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม  เช่น จากเดิมที่เคยนั่งทำงานติดต่อกันเป็นเวลานานหลายชั่วโมง ก็ปรับเปลี่ยนโดยลุกขึ้นยืนเปลี่ยนอิริยาบททุกๆ 1 ชั่วโมงเพื่อลดภาระงานของกล้ามเนื้อหลัง หรือกรณีที่ชอบก้มหลังยกของ ให้เปลี่ยนเป็นนั่งยองๆกับพื้นแล้วยกของแทน เพื่อป้องกันและลดภาระงานของกล้ามเนื้อหลัง ไม่ยืนเอี้ยวตัวส่งของหรือยกของ ไม่ใส่ส้นสูง เป็นต้น ซึ่งถ้าเราปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทำร้ายหลังเราได้ จะไม่ทำให้อาการปวดหลังแย่ลงมากกว่าเดิมนั่นเอง(อ๋อ)
  2. ออกกำลังกายบริหารกล้ามเนื้อหลัง

เรื่องที่เกี่ยงข้อง

CONCEPTOCOMUNICACION

เว็บไซต์รวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน

ที่ครอบคลุมทุกระดับความรู้

@2023 – All Right Reserved. Designed and Developed by Conceptocomunication