ระบบเสียงห้องประชุมที่ดี หมายถึง
ห้องประชุมที่จะต้องได้ยินเสียงในการพูดคุยชัดเจนในขณะประชุมจะต้องไม่มีเสียงก้องหรือเสียงหวีด ไมค์โครโฟนหอน และมีการปรับย่านความถี่ที่เหมาะสมกับงานในการประชุมนั้นๆ
- ระดับความดังของเสียงในห้องประชุมจะต้องอยู่ในระดับที่ไม่ดังจนเกินไปและเบาจนเกินไป
- ได้ยินชัดเจนทุกถ้อยคำโดยการปรับย่านความถี่อย่างเหมาะสม
- มีความเหมือนจริงของเสียงในการพูดคุยหรือสาธิตต่างๆ
- ห้องประชุมจะต้องถูกออกแบบมาไม่มีเสียงจากนอกเข้ามารบกวน
- ใช้ไมค์ได้ทุกพื้นที่ในห้องประชุม
- ใช้งานได้ครบตามที่ต้องการใช้งาน
- อายุการใช้งานยาวนาน
- ราคาสมเหตุสมผล
- มีบริการดูแลตลอดชีพ
เราขอให้ข้อมูลถึงองค์ประกอบหลักสำคัญที่จำเป็นต้องมีในระบบเสียงห้องประชุมที่ดี
- สภาพที่เหมาะสมของห้องประชุมที่มีผลกับเสียง (Acoustics)
- ระบบเสียงที่ออกแบบอย่างเหมาะสมสำหรับห้องประชุม
1. สภาพที่เหมาะสมของห้องประชุมที่มีผลกับเสียง (Acoustics)
สภาพของห้องประชุมที่มีผลกับเสียงหรือสภาพ Acoustic ที่เหมาะสมสำหรับห้องประชุม หมายถึง จะต้องมีสภาพของการสะท้อนเสียงและการเก็บเสียงรวมถึงสภาพของเสียงรบกวนที่เหมาะสมไม่เยอะหรือไม่น้อยเกินไป ในส่วนขององค์ประกอบหลักๆ และรายละเอียด ในเรื่องของสภาพ Acoustic ของห้องมีผลกับเสียงในห้องประชุม ดังนี้
1.1.ความก้องของเสียง (Reverberation Time)
สภาพความก้องของเสียงในห้องที่จะเป็นห้องประชุมที่ดี ควรจะมีสภาพความก้องของเสียงที่เหมาะสม ซึ่งมีค่าตามมาตรฐานทางวิศวกรรมเสียงเรียกว่า ค่า Reverberation Time หรือค่า RT60 กรณีที่ห้องประชุมนั้นมีค่า RT60 ที่เยอะเกินไปก็จะทำให้ห้องประชุมนั้น ไม่สามารถฟังเสียงได้อย่างชัดเจนเนื่องจากว่าคลื่นเสียงจะสะท้อนไปมาระหว่างพื้นผนังเพดานของห้องประชุมด้วยความเร็วของเสียงทำให้ความถี่ของเสียงต่างๆ วนไปมาอยู่ในห้อง ผลคือ การรับฟังไม่สามารถจับใจความได้ ดังนั้น ค่า RT ที่เหมาะสมสำหรับห้องประชุมก็จะมีค่าที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 1 วินาทีถึง 2 วินาที และไม่ควรเกิน 2.5 วินาที
ถ้าค่าความสะท้อนเสียงห้องประชุมมีค่าน้อยมากหรือมีค่าเทียบเคียงใกล้กับศูนย์ในทางวิศวกรรมเสียงเราจะมองว่าห้องนั้นเป็นห้องที่เป็นห้องตาย (Dead Room) ก็คือ เสียงที่ส่งเข้าไปในห้องนั้นทั้งหมดจะไม่มีการสะท้อนออกมา เสียงจะโดนดูดซับไปด้วยวัสดุซับเสียงที่มีอยู่ในห้องนั้นๆ ความรู้สึกที่เข้าไปในห้องนั้นก็จะรู้สึกไม่เป็นธรรมชาติเสียงที่ส่งมาจากลำโพงก็จะถูกดูดซับหายไปด้วยสภาพ Acoustic ของห้องนั้นจนมากเกินไปดังนั้นค่า Reverberation Time ของห้องหรือค่าความสะท้อนของห้องที่เหมาะสมจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะทำให้สภาพเสียงและการออกแบบเสียงของห้องประชุมนั้นมีความชัดเจนเป็นธรรมชาติและส่งเสียงที่เหมือนจริงกับต้นกำเนิดเสียงมากที่สุด
ทั้งนี้ อย่าพึ่งตกใจไปว่าถ้าห้องประชุมของเรามีค่าความก้องของเสียงหรือค่า RT ที่สูงเกินมาตรฐานแล้วจะไม่สามารถทำให้ห้องประชุมนั้นกลับมามีระบบเสียงที่มีความชัดเจนได้ การออกแบบระบบเสียงที่ดีสามารถช่วยให้เสียงของห้องประชุมนั้นกลับมามีคุณภาพเสียงที่ดีขึ้นได้ ทั้งนี้ระดับค่า RT ของห้องที่ไม่เหมาะสมแล้วการแก้ไขที่ต้นเหตุก็ คือ การปรับแก้สภาพของห้องให้เหมาะสมก็จะทำให้มีความชัดเจนของเสียงที่ดีขึ้นและอาจจะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมกว่าก็เป็นได้ การแก้ไขสภาพ Acoustic ของห้องไม่ได้หมายความว่าจำเป็นที่จะต้องรื้อผนังปรับเปลี่ยนฝ้าเพดานหรือปรับพื้นทั้งนี้สามารถจะปรับเพิ่มอุปกรณ์ซับเสียงบางส่วนเข้าไปเพื่อที่จะให้สภาพ Acoustic ของห้องมีความชัดเจนที่ดีขึ้น
1.2 ความชัดเจนของเสียง (Speech Transmission Index)
การรับฟังที่สามารถจับใจความได้ถือว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของระบบเสียงห้องประชุม การรับฟังที่สามารถจับใจความได้เรียกว่า ความชัดเจนของเสียง ในด้านวิศวกรรมเสียงจะกำหนดเป็นค่า Speech Transmission Index หรือ STI ซึ่งหมายถึงความชัดเจนของเสียงจากแหล่งกำเนิดเสียงคือลำโพงไปยังผู้ฟังณ.ตำแหน่งต่างๆ ในห้องประชุม โดยมีค่ากำหนดในค่าความชัดเจนของเสียงเป็นมาตรฐานอยู่ตามตารางที่กล่าวด้านล่างโดยเสียงชัดเจนดีที่สุดจะมีค่าเท่ากับ 1 และเสียงที่ไม่ชัดเจนไม่สามารถสื่อสารกันได้มีค่าเท่ากับ 0
1.3 เสียงรบกวน(Noise Level)
ในส่วนขององค์ประกอบที่สำคัญของทางด้าน Acoustic ของห้องก็คือค่าของเสียงรบกวน(Noise Level)ที่เกิดขึ้นภายในห้องนั้น ทางวิศวกรรมเสียงได้สรุปค่ามาตรฐานของเสียงรบกวนเรียกว่า Noise Criteria หรือค่า NC ยิ่งค่า Noise Criteria มากเสียงรบกวนก็จะมากขึ้น ถ้าค่า Noise Criteria น้อยห้องนั้นก็จะมีเสียงรบกวนน้อย กรณีที่ภายในห้องมีแหล่งกำเนิดเสียงได้หลายแหล่ง ตัวอย่างเช่น เสียงจากแอร์เครื่องปรับอากาศ เสียงจากพัดลมดูดอากาศ หรือเสียงจากอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกิดอยู่ภายในห้องนั้น ดังนั้นการออกแบบ Acoustic ที่ดีจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงเสียงรบกวนที่จะเกิดขึ้นภายในห้อง ซึ่งก็คือค่า NCนั่นเอง ทั้งนี้โดยปัจจัยหลักๆ ของค่าเสียงรบกวนที่เกิดขึ้นในห้องประชุมส่วนใหญ่แล้วจะมาจากเสียงของผู้คนที่อยู่ในห้องประชุมนั้นๆ และแอร์เครื่องปรับอากาศหรือเสียงที่เล็ดลอดมาทางช่องประตูหรือหน้าต่าง การออกแบบเลือกใช้วัสดุและอุปกรณ์ที่ส่งผลโดยตรงกับเสียงรบกวนเช่น พัดลมระบายอากาศ ประตู หน้าต่าง เก้าอี้ ฯลฯ
1.4 วัสดุพื้นผิวของห้องประชุม
วัสดุพื้นผิวของห้องประชุม คือ ส่วนประกอบหลักที่ผลแปรผันโดยตรงกับ Acoustic ของห้องนั้นๆ ดังนั้น การออกแบบวัสดุพื้นผิวของห้องประชุมก็จะส่งผลแปรผันโดยตรงกับคุณภาพด้านเสียงของห้อง โดยทั่วไปถ้างานออกแบบได้เลือกวัสดุ Acoustic ที่เหมาะสมมาใช้กับห้องก็จะช่วยให้การออกแบบระบบเสียงมีประสิทธิภาพมากและมีค่าใช้จ่ายที่น้อยลง เช่น ฝ้าแบบเรียบทั่วไปจะมีค่าการสะท้อนของเสียงมากกว่าฝ้าแบบซับเสียงแต่ราคาวัสดุไม่ได้แตกต่างกันมาก แต่ทั้งนี้ถ้าการออกแบบระบบเสียงมาหลังจากที่ห้องประชุมนั้นได้ตกแต่งภายในเสร็จแล้ว และถ้า Acoustic ของห้องมีปัญหา ระบบเสียงก็จะต้องมาช่วยแก้ปัญหาเรื่อง Acoustic ของห้องที่เกิดขึ้นแล้วเพื่อให้ได้ความชัดเจนของเสียงที่ได้คุณภาพมากขึ้น แต่เนื่องจาก Acoustic ของห้องที่ไม่เหมาะสมกับการใช้งานก็จะต้องมีการออกแบบเพิ่มเติมและอาจต้องใช้ลำโพงและอุปกรณ์เสริมต่างๆ มากขึ้นซึ่งส่งผลทำให้ใช้งบประมาณมากขึ้น
2.ระบบเสียงที่ออกแบบอย่างเหมาะสมสำหรับห้องประชุม
2.1 ต้องคำนึงถึงระดับความดังของเสียง Sound Pressure Level (SPL)
เสียงจากระบบเสียงที่จะส่งไปถึงผู้ฟังที่อยู่ในห้องจะต้องมีระดับความดังที่เหมาะสม ไม่เบาจนลำบากในการฟัง ไม่ดังเกินจนหนวกหูรำคาญหรืออาจเป็นอันตรายต่อการได้ยินทั้งในระยะสั้นหรือระยะยาว ค่าความดังของเสียงนี้ทางวิศวกรรมเสียงเรียกว่า Sound Pressure Level (SPL) มีหน่วยเป็นเดซิเบล (Decibel) ตัวอย่างความดังของเสียงที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมแต่ละประเภทมีค่าตามระบุไว้
2.2 ออกแบบใช้งานครอบคลุมทุก Function ที่ต้องการใช้งาน
- รองรับหลากหลายประเภทการใช้งาน การใช้งานห้องประชุมไม่ได้จำเป็นต้องใช้งานสำหรับการประชุมเพียงอย่างเดียวก็ได้ ยังสามารถออกแบบให้ใช้งานสัมมนาหรือจัดเลี้ยงสังสรรค์รวมถึงงานแสดงละครงานแสดงงานดนตรีConcert
- แบ่งห้องย่อยรวมห้องใหญ่ การใช้งานห้องประชุมก็ยังสามารถกำหนดแบ่งแยกห้องเป็นห้องประชุมเล็กหลายห้องแล้วยังสามารถรวมกลับมาเป็นห้องประชุมใหญ่ได้อีกด้วย
- ไมโครโฟนรองรับแต่ละประเภทการใช้งาน การใช้งานแต่ละประเภทก็จำเป็นต้องมีชนิดของไมโครโฟนที่เหมาะสมเพราะจะให้คุณภาพเสียงและความสะดวกที่แตกต่างกัน เช่น Presentation ก็ควรใช้ไมค์แบบเกี่ยวหูหรือหนีบปกเสื้อ ไม่ควรใช้ไมค์มือถือเพราะจะให้อิสระกับมือทั้งสองข้างให้ภาพลักษณ์ที่น่าเชื่อถือมากขึ้นและอื่นๆอีกมาก ในห้องประชุมต้องมีไมโครโฟนให้กับรองรับทุกประเภทการใช้งานของในห้องประชุมนั้นๆ ทั้งไมโครโฟนมีสายและไร้สาย ทั้งไมค์แบบมือถือ แบบเกี่ยวหู แบบหนีบปกเสื้อ แบบคาดศรีษะ ฯลฯ
2.3 สามารถใช้ไมโครโฟนได้ทุกพื้นที่ในห้องประชุม
บางท่านอาจมีประสบการณ์ที่ไม่สามารถใช้ไมโครโฟนได้ทุกพื้นที่ในห้องประชุม เดินไปมุมนั้นมุมนี้ก็เกิดเสียงหอนเสียงหวีด นั่นคือ ระบบเสียง ของห้องประชุมนั้นเป็นระบบเสียงที่ไม่ได้คุณภาพ ถ้าท่านที่มีประสบการณ์ในห้องประชุมแบบนี้จะพยายามยืนนิ่งในตำแหน่งเดิมที่ไม่มีเสียงหอนหรือท่านที่พอรู้บ้างก็จะหลบไม่เดินผ่านลำโพงเพราะรู้ว่าถ้าเดินผ่านหน้าตู้ลำโพงเมื่อไหร่เสียงหอนมาแน่การออกแบบติดตั้งระบบเสียงให้ท่านสามารถใช้ไมโครโฟนเดินได้ทุกพื้นที่ในห้องประชุม ไม่ว่าจะเป็นหน้าตู้ลำโพงหรือทุกพื้นที่ในห้องประชุมนั้นไม่ต้องกังวลเรื่องจะเกิดเสียงหวีดเสียงหอนอีกเลย
หากท่านสนใจเกี่ยวกับรายละเอียดต่างๆสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเราพร้อมที่จะให้คำแนะนำฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการ ติดตั้งเครื่องเสียงห้องประชุม ให้ได้ครบถ้วนเลยครับ