ถุงมือกันบาด (Cut-Resistant Glove) มีกี่ชนิด คุณสมบัติต่างกันอย่างไร
ถุงมือกันบาด ได้รับการออกแบบมาเพื่อป้องกันมือจากการบาดและการฉีกขาดขณะปฏิบัติงาน ที่เกี่ยวข้องกับของมีคมหรือใบมีด มักใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น การก่อสร้าง การผลิต และการแปรรูปอาหาร มีวัสดุหลายชนิดที่สามารถนำมาใช้ทำถุงมือกันบาดได้ เช่น เคฟลาร์ สเปคตร้า และไดนีมา ถุงมือบางชนิดยังป้องกันการเสียดสี การเจาะ และการกระแทกอีกด้วย สิ่งสำคัญ คือ ต้องทราบว่าถุงมือป้องกันการบาดไม่ได้ให้การป้องกันการบาดอย่างสมบูรณ์ และไม่ควรใช้แทนอุปกรณ์หรือข้ามขั้นตอนการทำงานที่ปลอดภัยอย่างเหมาะสม
OSHA กำหนดให้มีการป้องกันมือ แต่ไม่ได้ระบุระดับการต้านทานการบาดที่เจาะจง ให้ ANSI เป็นผู้ดำเนินการโดยระดับการป้องกันของถุงมือของ ANSI ถูกกำหนดขึ้นครั้งแรกในปี 1999 และแก้ไขในปี 2005 2011 และอีกครั้งในปี 2016 การแก้ไขสะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาด้านวัสดุที่ใช้ปกป้องอย่างเหมาะสม ซึ่งถุงมือกันบาดมีอยู่หลายมาตรฐานด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น EN หรือ ANSI ซึ่งในประเทศไทยส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นมาตรฐาน EN388
มาตรฐาน ถุงมือกันบาด ตาม ANSI
ANSI/ISEA 105-2016 เป็นมาตรฐานที่กำหนดระดับการต้านทานการบาดของถุงมือโดยใช้วิธีการทดสอบที่เรียกว่า TDM-100 โดยการให้คะแนนในระดับตั้งแต่ A1 ถึง A9 โดย A1 เป็นระดับการต้านทานการบาดต่ำสุด และ A9 เป็นระดับสูงสุด ระดับต่างๆ ขึ้นอยู่กับจำนวนรอบที่ใช้ใบมีดตัดผ่านวัสดุของถุงมือโดยใช้เครื่องทดสอบ TDM-100 ยิ่งจำนวนรอบสูง ระดับความต้านทานการตัดก็จะยิ่งสูงขึ้น A9 มีความต้านทานการตัดในระดับสูงสุด
- Level A1 : ถุงมือป้องกันระดับ 1 ทนทานต่อแรงตัด 200 กรัม ถึง 499 กรัม
- Level A2 : ถุงมือป้องกันระดับ 2 ทนทานต่อแรงตัด 500 กรัม ถึง 999 กรัม
- Level A3 : ถุงมือป้องกันระดับ 3 ทนทานต่อแรงตัด 1,000 กรัม ถึง 1,499 กรัม
- Level A4 : ถุงมือป้องกันระดับ 4 ทนทานต่อแรงตัด 1,500 กรัม ถึง 2,199 กรัม
- Level A5 : ถุงมือป้องกันระดับ 5 ทนทานต่อแรงตัด 2,200 กรัม ถึง 2,999 กรัม
- Level A6 : ถุงมือป้องกันระดับ 6 ทนทานต่อแรงตัด 3,000 กรัม ถึง 3,999 กรัม
- Level A7 : ถุงมือป้องกันระดับ 7 ทนทานต่อแรงตัด 4,000 กรัม ถึง 4,999 กรัม
- Level A8 : ถุงมือป้องกันระดับ 8 ทนทานต่อแรงตัด 5,000 กรัม ถึง 5,999 กรัม
- Level A9 : ถุงมือป้องกันระดับ 9 ทนทานต่อแรงตัด 6,000 กรัมขึ้นไป
ชนิดของถุงมือกันบาด
ถุงมือกันบาดทำจากวัสดุหลายชนิด โดยแต่ละชนิดมีคุณสมบัติและระดับการกันบาดที่แตกต่างกัน วัสดุทั่วไปที่ใช้ทำถุงมือกันบาด ได้แก่
- ถุงมือกันบาดเส้นใยเคฟลาร์ (Kevlar gloves) : ทำจากเส้นใยสังเคราะห์กลุ่มอะรามิดที่ขึ้นชื่อเรื่องความแข็งแรงและทนทาน มีคุณสมบัติเหนียวแน่น คงทน แข็งแรง ทนต่อสารเคมีและความร้อนสูง ไม่ลามไฟ ทนต่อการขัดถู ถุงมือเคฟลาร์มักจะใช้ในงานที่ต้องการความทนทานต่อการบาดและทนความร้อนสูง
- ถุงมือสเปกตร้า (Spectra gloves) : ผลิตด้วยเส้นใยสเปกตร้า เป็นเส้นใยสมรรถนะสูงที่ประกอบด้วยวัตถุดิบ 4 ชนิด ได้แก่ สเปกตร้า สแตนเลส ไฟเบอร์กลาส และโพลีเอสเตอร์ ทำให้เส้นใยมีความแข็งแรงและทนต่อการตัดขาดได้ดี
- ถุงมือกันบาดเส้นใยไดนีม่า (Dyneema gloves) : ทำจากเส้นใยไดนีม่าหรือวัสดุ HPPE เป็นเส้นใยชนิดพิเศษมีประสิทธิภาพสูง เส้นใยมีความเหนียวแน่น ยืดหยุ่น ทนทานต่อการเสียดสี น้ำหนักเบาพิเศษ ถ่ายเทอากาศได้ดี สามารถซักได้ เหมาะกับงานที่หยิบจับของมีคมและงานที่เสี่ยงต่อการเจาะทะลุ
- ถุงมือตาข่ายสแตนเลส (Stainless Steel Mesh gloves ) : ถุงมือตาข่ายสแตนเลสทำจากลวดสแตนเลสถัก ซึ่งให้ความต้านทานต่อการบาดสูงมากและระบายอากาศได้ดี แข็งแรง ทนทาน และป้องกันมือจากบาดเฉือนได้เป็นอย่างดี ทั้งไม่เป็นสนิมและไม่มีสารพิษ สามารถสัมผัสอาหารได้ นิยมนำไปใช้ในงานอุตสาหกรรมเครื่องจักรเบา งานอุตสาหกรรมอาหาร เช่น งานจับหั่นเนื้อสัตว์หรือชำแหละเนื้อสัตว์
- ถุงมือทังสเตน (Tungsten gloves) : ทำจากเส้นใยทังสเตนเป็นวัสดุเสริมแรงมีความแข็งแรงและทนทานสูง มีลักษณะเป็นเส้นด้ายเล็กๆ และมีความบาง แต่คงความแข็งแรง ทนทานต่อการตัดขาดและการเฉือนได้ดี นิยมใช้ในโรงงานขวดแก้ว กระจก อุตสาหกรรมรถยนต์ งานด้านวิศวกรรม และงานที่มีการใช้ใบมีดอุตสาหกรรม
- ถุงมือ Tsunooga (Tsunooga gloves) : ผลิตด้วยเส้นใย Tsunooga เป็นเส้นใยจากเอทิวลีนที่มีน้ำหนักโมเลกุลสูง มีความแข็งแรง ทนทาน มีความต้านทานแรงดึงและต้านทานการตัดขาดได้ดี
- ถุงมือกันบาดเคลือบ PU : ผลิตจากเส้นด้ายสมรรถนะสูง แต่เพิ่มคุณสมบัติการใช้งานพิเสษขึ้นมาด้วยการเคลือบ PU โดยบริเวณที่เคลือบ PU จะมีความต้านทานต่อสารเคมี น้ำมันและจารบี กันลื่นและดูดซัลแรงกดทับได้ดี ทนการบาดเฉือนได้ดีในระดับหนึ่ง เหมาะกับงานหยอบจับและกันบาดจากของมีคมทั่วไป เช่น ใบมีด กรรไกร แผ่นโลหะ เป็นต้น
- ถุงมือกันบาดเคลือบไนไตร : ผลิตจากเส้นใยสมรรถนะสูง เพิ่มคุณสมบัติโดยการเคลือบไนไตร มีลักษณะเป็นเส้นใยสังเคราะห์สีดำ ทนต่อสารพิษ สารเคมี ป้องกันน้ำมันซึมผ่าน ช่วยกันลื่นได้ดี บริเวณที่เคลือบด้วยไนไตรช่วยลดความเสี่ยงต่อการถูกของแหลมคม การเจาะทะลุ และการทิ่มแทงได้
การเลือกใช้ถุงมือกันบาด
การเลือกใช้ถุงมือกันบาด ให้พิจารณาถึงปัจจัยต่อไปนี้
- วัสดุ : วัสดุของถุงมือกันบาดจะเป็นตัวกำหนดระดับความต้านทานต่อการบาด เช่น เคฟลาร์ สเปกตร้า ไดนีม่า สแตนเลส เป็นต้น
- ระดับการต้านทานการบาด : ถุงมือกันบาดควรมีระดับการป้องกันตรงตามลักษณะของการใช้งาน หากมีความเสี่ยงต่อการถูกบาดเฉือนสูง ก็ต้องเลือกระดับการป้องกันที่สูงด้วย
- ความสบาย : ความสบายเป็นสิ่งสำคัญเนื่องจากถุงมือต้องพอดีกับขนาดมือของผู้สวมใส่ เพื่อให้การป้องกันที่ดีที่สุด มองหาถุงมือที่สวมใส่สบาย มีความคล่องแคล่วและวัสดุที่ยืดหยุ่น
- ความทนทาน : พิจารณาความทนทานของถุงมือและตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีความทนทานต่อการใช้งานบ่อยครั้ง
- ตรงตามวัตถุประสงค์ : เลือกถุงมือกันบาดที่ออกแบบมาเฉพาะสำหรับงานที่ทำอยู่ เช่น การเตรียมอาหาร หยิบจับโลหะ หรืองานไม้
- มาตรฐาน : มาตรฐานเป็นสิ่งที่สำคัญ ถุงมือกันบาดที่ได้รับมาตรฐาน ทำให้มั่นใจได้ว่าผู้ใช้งานจะเกิดความปลอดภัย เช่น EN388 ANSI ASTM หรือ CE เป็นต้น
สรุป
ถุงมือกันบาดมีหลายประเภทให้เลือกใช้งานสิ่งแรกที่ต้องพิจารณาในการเลือกใช้ถุงมือกันบาด คือ มาตรฐานด้านความปลอดภัย
และการเลือกใช้งานให้เหมาะสมกับลักษณะของงานซึ่งผู้ใช้งานเองต้องดูแลรักษาอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยและตรวจสอบสภาพก่อนการใช้งานทุกครั้งหากพบว่าชำรุดหรือเสื่อมสภาพให้เปลี่ยนใหม่ทันทีเพื่อความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานเอง
บทความที่น่าสนใจ :
- อันตรายจากท่าทางการทำงานที่ไม่เหมาะสมด้านการยศาสตร์
- หน้าที่ จป.หัวหน้างาน มีหน้าที่อะไรบ้างในโรงงานอุตสาหกรรม
- ขั้นตอนการ Logout – Tagout (LOTO) เพื่อความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน
- จป.หัวหน้างาน ควรมีการพูดคุยความปลอดภัยก่อนเริ่มทำงานประจำวันอย่างไร
- ตัวอย่าง SDS เอกสารแสดงข้อมูลสารเคมีที่ดี เป็นอย่างไร?